ใช้งานจริงจะดีขนาดไหนกับ Wireless AC1200
ถ้าคิดจะเปลี่ยน หรืออัพเกรดเราเตอร์มาใช้งานในบ้าน หรือในออฟฟิศซักตัว คงต้องมองเราเตอร์ที่เป็น Wireless AC อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเพราะการซื้อเผื่ออนาคต หรือเพราะเพื่อนแนะนำ คนขายหน้าร้านเชียร์ ซึ่งถ้าว่ากันตามสเปกแล้วก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ซื้อทั้งทีใครก็อยากได้ดีๆ รวมถึงให้รองรับการใช้งานในอนาคตได้ด้วย ไม่ต้องเสียเงินซื้อหลายเที่ยว เพราะว่ามาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายในปัจจุบัน เริ่มใช้งานบนคลื่นความถี่ 5GHz กันมากขึ้น รุ่นยอดนิยมราคาจับต้องได้ก็ต้องมองไปที่ Wireless AC750 และ Wireless AC1200 ละครับ
เราเตอร์ Wireless AC1200
เราเตอร์ที่มาพร้อมมาตรฐาน Wireless AC1200 ณ ตอนนี้ก็จะอยู่ในช่วงราคา 3,000 – 4,000 บาท ก็ถือว่ากำลังดีถ้าคิดจะเปลี่ยนแทนเราเตอร์เดิมที่ผู้ให้บริการ (ISP) แถมมา ยกตัวอย่างเช่นตัวผมเองที่ได้ติดอินเทอร์เน็ต AIS Fibre เขาแถมเราเตอร์ Huawei HG8245H มาให้สัญญาณ Wi-Fi อ่อนมากกกกกก ใช้งานที่ชั้นสองของบ้านรู้สึกว่าช้าอย่างชัดเจน ยิ่งถ้าเทสสปีดดูก็ยิ่งเห็นความต่าง ก็เลยเป็นที่มาของเหตุผล และความอยากในการเสาะหาเราเตอร์รุ่นใหม่ที่มันตอบโจทย์กว่านี้
Linksys EA6350
ตอนนี้ก็ได้ Linksys EA6350 มาลองใช้งานกัน ส่วนรายละเอียดการทดสอบแบบจัดเต็มเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ ในวันนี้จะเป็นการใช้งานจริงด้วยการเชื่อมต่อไร้สายเพียวๆ ว่าจะประสิทธิภาพของตัวเลข AC1200 นั้นมันดีจริงมั้ย หรือว่าดีกว่าการเดินสายแลนจริงมั้ยเดี๋ยวได้รู้กันครับ
ทำความเข้าใจกับตัวเลข AC1200 กันก่อน
ในความจริงตัวเลข 1200 ที่เราเห็น หรือได้ยินนั้นขออธิบายตรงนี้ก่อนเล็กน้อย ทั้งฝรั่ง และผู้ผลิตมักจะสรา้งตัวเลขเวอร์ๆ มาให้ดูน่าสนใจเรียกเงินในกระเป๋าของเรา เพราะฉะนั้นเราจะมาบอกว่า Wireless AC1200 นั้น จะประกอบด้วยคลื่น 2.4GHz ที่ความเร็วสูงสุด 300Mbps และ ที่คลื่น 5GHz เชื่อมต่อได้สูงสุด 867Mbps ถ้านำมารวมกันก็จะได้ประมาณ 1,167Mbps เพราะฉะนั้นถ้าใครซื้อเราเตอร์รุ่นใหม่ไปแล้วเชื่อมต่อไร้สายได้สูงสุดไม่เกิน 300Mbps แสดงว่าอาจจะเชื่อมต่อที่คลื่น 2.4GHz หรือถ้าเชื่อมต่อได้ไม่เกิน 867Mbps ก็แสดงว่าขณะนั้นเชื่อมต่อใช้งานที่คลื่น 5GHz ไม่ต้องตกใจว่าทำไมเชื่อมต่อได้ไม่ถึง 1200Mbps นะครับ
ลองใช้งานจริง
ก่อนอื่นมาลองทดสอบการเชื่อมต่อผ่านสายแลนกันก่อน ระหว่าเครื่องพีซีกับ Linksys EA6350 และขยายด้วย Switch Gigabit ที่ต่อยังไปยังปลายทางที่เครื่อง NAS
CPU: Intel Pentium G3258
M/B: ASRock Z97X Killer
LAN: Onboard 10/100/1000Mbps
RAM: DDR3 12GB
SSD: Deva’s 120GB
OS: Windows 10 64-bit
สเปกเครื่องพีซีที่ใช้ทดสอบครั้งนี้
ประสิทธิภาพของ SSD ขนาด 120GB จาก Deva’s ทดสอบด้วยโปรแกรม AS SSD Benchmark
ทดสอบ Ping ไปที่ IP ของเครื่อง NAS
ทดสอบด้วยโปรแกรม LAN Speed Test Lit กับไฟล์ขนาด 1000MB ใช้เวลาในการเขียน 10.312 วินาที และอ่านไฟล์เสร็จในเวลา 14.336 วินาที
คราวนี้โยนไฟล์ ISO จากเครื่อง NAS มาที่เครื่องพีซี ก็ถือว่าได้ความเร็วเต็มๆ ของ LAN Gigabit
ในส่วนของ USB Wireless ในวันนี้ใช้ TP-Link T4U Wireless AC1200 มาเชื่อมทดสอบครับ
หน้า Setting ของตัวเราเตอร์ Linksys EA6350 ในหัวข้อ Wireless
เชื่อมต่อที่คลื่น 5GHz ได้ความเร็ว 867Mbps เต็ม
ลองทดสอบ Ping ไปยัง IP ของ NAS ตัวเลขตรงนี้บอกได้ว่ามีการแกว่งเล็กน้อย
ทดสอบด้วยโปรแกรม LAN Speed Test Lit กับไฟล์ขนาด 1000MB ใช้เวลาในการเขียน 33.765 วินาที และอ่านไฟล์เสร็จในเวลา 18.071 วินาที ถ้าดูเฉพาะเวลาที่ทำได้ตรงนี้โดยไม่เทียบกับสายแลน ต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่ประทับใจ
โอนไฟล์ ISO อันเดียวกันขนาด 4GB จากเครื่อง NAS มาที่เครื่องพีซีบ้าง ความเร็วตามภาพเฉลี่ยทำได้ประมาณ 48-50MB/s ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าความนิ่งจะสู้สายแลนไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ต้องบอกว่าใช้เวลาในการโอนไฟล์ขนาด 4GB ภายในเวลาประมาณ 1.30 นาทีเท่านั้น
ลองสรีมมิ่งดูหนังแบบ Full rip ด้วยไฟล์ ISO ขนาด 30-40GB กันบ้าง
ก็สามารถดูได้สบายๆ ลื่นๆ ไม่มีปัญหา สามารถกดเลือกช่วงที่ต้องการดูได้ค่อนข้างรวดเร็ว ไม่รอนานมากนัก ถ้าการดูไฟล์หนังระดับนี้ได้ราบรื่น รับรองว่าการสตรีมมิ่ง หรือการดูหนังออนไลน์กับสมาร์ททีวีต้องบอกว่าเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องกลัวว่าความเร็วในการเชื่อมต่อไร้สายนั้นจะไม่เพียงพอ
บทสรุป
สำหรับความเร็วในการเชื่อมต่อไร้สายบนมาตรฐาน Wireless AC1200 จะแบ่งเป็นการเชื่อมต่อไร้สายบนคลื่น 2.4GHz ด้วยความเร็ว 300Mbps และความเร็วในการเชื่อมต่อไร้สายบนคลื่น 5GHz ที่ความเร็ว 867Mbps แม้ว่าตัวเลขจะใกล้กับความเร็วของสายแลน 1000Mbps แต่ประสิทธิภาพการใช้งานจริงนั้นยังเป็นรองเกือบเท่าตัว เพราะว่าการรับส่งข้อมูลของสายแลนจะทำได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนการรับ-ส่งข้อมูลแบบไร้สายจะทำไม่ได้ตามตัวเลขจริง เหมือนว่าระบบไร้สายจะรอให้ส่งข้อมูลเสร็จ แล้วค่อยรับข้อมูลอีกที รวมถึงการทะลุทะลวงของคลื่นสัญญาณ 5GHz ก็ทำได้ตำกว่าคลื่น 2.4GHz มาก ทำให้ตัวเลขในการใช้งานจริงต่างจากสายแลนแบบชัดเจน
แต่อย่างไรก็ตาม กับตัวเลข และการทดสอบใช้งานจริงดูจะพอเพียงสำหรับการใช้งานในปัจจุบันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานกับโน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือสมาร์ททีวี ในการเชื่อมต่อไร้สาย ยกเว้นว่าเป็นการใช้งานโหดจริงๆ และต้องการใช้เทคโนโลยีได้เต็มประสิทธิภาพจริงๆ ต้องข้ามไปเล่นที่มาตรฐาน Wireless AC1900 อันนั้นน่าจะตอบโจทย์ได้เต็มที่จริงๆ แต่อย่าลืมว่าฝั่งเราเตอร์ส่งสัญญาณด้วยความเร็วสูง เครื่องรับก็จะต้องรับด้วยความเร็วสูงด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้ได้ประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อไร้สายไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งเท่าที่ดูในตลาดปัจจุบันต้องบอกว่าอุปกรณ์เครื่องรับ หรือแม้กระทั่ง USB Wireless เองก็มีขายน้อยมาก
เพราะฉะนั้นตัวเลือกที่คุ้มค่าในเวลานี้ในการเล่นอุปกรณ์ไร้สายภายในบ้าน น่าจะเป็นมาตรฐาน Wireless AC1200 นี่หละครับคุ้มค่าที่สุดในเวลานี้